![]() |
Image: http://screenmusings.org/LifeOfPi/images/Life-of-Pi-235.jpg |
จะว่าไป ผมไปอยู่ที่ไหนมาก็ไม่ทราบ แม้จะเคยเห็นภาพ เรือ ชายหนุ่มอินเดียและเสือ 1 ตัว ทั้งแบบภาพจริงและภาพล้อเลียนมาบ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดดูหนังเรื่องนี้เลย นี่ผมตกข่าวหนังดี ๆ ไปตั้ง 3 ปีเชียวนะ!
LIFE OF PI ที่ผมได้ดู จึงถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ตีแผ่ วิเคราะห์ กันทะลุปรุโปร่งไปหมดแล้ว ประมาณว่าที่ผมตามไปอ่านบทวิจารณ์ ใน Pantip.com ก็ตลาดวายไปหมดแล้วนั่นเอง จึงไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับใครได้อีก ถึงต้องมาเขียน Blog เอง 555
เรื่อง LIFE OF PI นี้ เป็นภาพยนตร์ชั้นดีที่ถูกกล่าวขวัญและตีความกันไปได้อย่างหลากหลายมาก เพราะหนังตั้งใจทำให้เป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคนดูมีความเชื่อและประสบการณ์ทางไหน ก็จะตีความไปทางนั้น
หลังจากได้ชมหนังเรื่องนี้และอ่านความคิดเห็นต่าง ๆ ทั้งใน Pantip และเว็บบล็อกต่างประเทศ ขอสรุปบางอย่างมาเก็บในบันทึกนี้
การตีความหนังเรื่องนี้มีหลายแนวทางมาก เรื่องราวต่อไปนี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชมภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือมาแล้วเท่านั้น (มีสปอยล์เนื้อหาแน่นอน)
ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น เรื่องที่ PI เล่าก็ดูเป็นจริงได้สองแบบ แต่คนดูทั่วไป กลับนำเรื่องราวมาตีความเนื้อเรื่องที่สามอีกต่อหนึ่ง ซึ่งดูจะกลายเป็นหนังสยองขวัญไป
แบบแรกก็ตามที่คนชมหนังได้เห็น มีคนยึดถือเรื่องราวตามนั้นว่าเป็นเรื่องที่น่าเชื่อ เชื่อว่ามีสัตว์หนีตายมาอยู่บนลำเรือ มีการทำร้ายกันและสุดท้ายเหลือแค่ PI กับเสือเบงกอล ช่วงเวลาที่รอมร่อเจียนตาย ก็ได้พบเกาะลึกลับ ได้มีเวลาพักผ่อนและกักตุนอาหารก่อนเดินทางต่อจนถึงชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
แบบที่สอง ก็มีคนเชื่ออยู่ไม่น้อยว่านี่แหละคือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจริง ตามที่ PI เล่าให้เจ้าหน้าบริษัทเรือญี่ปุ่นฟัง เพราะเจ้าหน้าที่รู้สึกว่าเรื่องแรกที่เล่ามาดูเหลือเชื่อเกินไป เรื่องที่สองนี้ไม่มีสัตว์ใดใด มีแต่คนบนเรือ และมีการทำร้ายกัน สุดท้ายเหลือแต่ PI คนเดียวที่รอดลอยลำมาถึงชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
แบบที่สามและ....อีกหลายแบบ เกิดจากคนมาตีความกันเองหลังชมหนังจบ เช่น บอกว่าเกาะนั้น เป็นตัวแทนของร่างกายแม่ของพาย และพวกเมียร์แคทนั้นเหมือนหนอนไชศพ แล้วพายก็ต้องประทังชีวิตด้วยการกินซากศพแม่ตัวเอง เรื่องเล่าคือเกราะป้องกันทางจิตใจที่พายสร้างเรื่องราวขึ้นมาเอง โห คิดได้ยังไงเนี่ย ดูโหดร้ายไปนะ...
หลายคนคิดว่าหนังเรื่องนี้คือมีการหักมุมสุดท้ายโดยแฉความจริงให้ผู้ชมหงายหลังท้ายเรื่อง แต่เปล่าเลย เพราะหนังดันหักมุมอีกรอบ โดย PI ถามตัวละครที่เป็นนักเขียนในหนังอีกทีว่า คุณชอบเรื่องไหน?
ผู้ชมก็งงรับประทานสิท่าน ดูจบแบบอึ้ง ๆ งง ๆ ค้างคาใจว่าแล้วอะไรคือความจริง แล้วตูควรเชื่อเรื่องไหนดี
ถ้ามีเรื่องสองแบบ แล้วความจริงคืออะไร เรื่องที่หนึ่งหรือสอง หรือไม่จริงทั้งสองเรื่อง อย่าลืมว่า PI เป็นคนเดียวเท่านั้นที่รู้ความจริง ดังนั้นเขาจะเล่าเรื่องไหนก็ได้ แต่เรื่องที่แท้จริงนั้นมีเพียงเขาเท่านั้นที่รู้
มาดูกันก่อนว่ามีอะไรที่ดูจริง และไม่จริงบ้าง
ทำไมหนังจึงปูเรื่องชีวิตวัยเด็กของพาย
พายเป็นเด็กที่สนใจในเรื่องของศาสนาและเหตุผลพร้อมกัน เพราะว่ามีแม่ที่เคร่งศาสนาและพ่อที่ไม่เชื่อศาสนาแต่เชื่อในหลักวิทยาศาสตร์ หนังช่วงแรกสื่อให้เห็นว่า PI ก็คือคนธรรมดาที่มีความสงสัยใคร่รู้สิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะแง่มุมของศาสนา ช่วงสำคัญก็คือช่วงที่ถามบาทหลวงว่าทำไมพระบิดาจึงส่งลูกตัวเองมารับความทรมานเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ ดังนั้นหนังช่วงแรกจึงอยากให้ผู้ชมรู้ว่า PI นั้นมีความเชื่อในศาสนา และเขาได้พยายามถามหาพระเจ้าอยู่เหมือนกันในช่วงท้าย ๆ เรื่องก่อนจะไปเจอเกาะลึกลับ
เรืออับปาง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเร็วมาก และแน่นอนว่า PI รอดมาได้คนเดียว เพราะพ่อแม่และพี่ชายอยู่ในห้องนอนของเรือโดยสารชั้นล่าง ดังนั้นที่บอกว่าแม่พายลอยบนกล้วยมาขึ้นเรือบ้างล่ะ พายหาประโยชน์จากศพแม่ตัวเองบ้างล่ะ เป็นอันตกไป
สัตว์หนีน้ำมาขึ้นเรือ
ดูแล้วก็อาจจะเป็นไปได้แต่จะแปลกใจนิดหน่อยตอนไปเจอเกาะที่มีตัวเมียร์แคทมากมาย ดูแฟนตาซีเหลือเชื่อว่าบรรดาเมียร์แคทไปอยู่บนเกาะแบบนั้นได้อย่างไร
เรื่องเล่าที่สอง
ดูไม่สมจริงมาก ๆ ตอนที่ PI บอกว่าพ่อครัวยอมให้ PI จัดการปลิดชีพแต่โดยดี เป็นไปได้หรือ?
คำถามเล็ก ๆ ของ PI ต่อนักเขียน
ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องต่อไป PI ถามนักเขียนว่าผมลืมอะไรไปหรือเปล่า นักเขียนก็เล่าว่าลุงเค้าให้มาหา เพื่อฟังเรื่องที่ทำให้มีศรัทธาต่อพระเจ้า พายยิ้มมุมปากแบบแกน ๆ แล้วเริ่มเล่าเรื่อง ตรงนี้เหมือน PI ขอรู้ก่อนว่าผู้ฟังอยากฟังอะไรก็เล่าเรื่องนั้นออกมา
สงสัยไหม ทำไมพายต้องเล่าเรื่องนี้
อันนี้อ่านจากเว็บนอกแล้วเห็นด้วย เขาบอกว่า PI เป็นเด็กฉลาด เพราะชื่อเค้าโดนเรียกว่า PISSING แต่เขาก็เปลี่ยนใหม่ให้เพื่อน ๆ ทึ่งว่า PI คือค่าพายทางคณิตศาสตร์ เป็นอัตราส่วนค่าคงตัวที่มีเลขทศนิยมไม่จบสิ้น จะเห็นว่าพายต้องการนำสารบางอย่างสื่อออกมาในแนวคิดใหม่ พายรู้ดีถึงเรื่องเล่าต่าง ๆ ตามภาพเขียนในโบสถ์ หรือที่เห็นในนิยายว่าทำไมดูแล้วล้ำจินตนาการเหลือเชื่อแล้วก็ยังมีคนเชื่อ พายจึงเล่าเรื่องออกมา 2 แบบ เพื่อให้คนฟังพิจารณาเอาเอง ซึ่งเมื่อนักเขียนเลือกเชื่อเรื่องที่สองที่ดูเหลือเชื่อ พายก็เหมือนยิ้มเล็ก ๆ และกล่าวขอบคุณ ผู้ฟังได้ตามจุดประสงค์คือเชื่อในอำนาจของพระเจ้าที่ทำให้พายรอดชีวิตมาได้ ส่วนเจ้าหน้าที่บริษัทเรือนั้นก็ได้เรื่องตามจุดประสงค์เพื่อเคลมประกันได้ต่อไป PI เองจึงเหมือนเป็นนักเล่าเรื่อง ที่อยากสื่อสารสาระออกมาใน 2 แง่มุมเพื่อรำลึกต่อคุณพ่อและคุณแม่ที่จากไป ว่าเขารอดมาได้นั้นเป็นเพราะเขามีศรัทธาต่อพระเจ้า และอีกส่วนหนึ่งเขารอดมาได้ เพราะเขาเชื่อในเหตุผลและความรู้ ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เขารอดกลับมา
การตีความอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
- ท้องทะเล คือการเดินทางของชีวิต
- เรือ คือ ร่างกายและชีวิตของคนเรา
- หนู คือ ความหวาดกลัวและหลบซ่อน ความใคร่
- ม้าลาย คือ ความอ่อนแอ ความเหนื่อยล้า
- ไฮยีน่า คือ ความหิวโหย
- ลิงอุรังอุตัง คือ ความเมตตาปราณี
- เสือ คือ ความเด็ดขาดและสติปัญญา
- เกาะลึกลับ คือ หยินและหยางของทุกสิ่ง ที่มีสองด้าน หรือสองขั้ว
- ชายฝั่ง คือ เป้าหมายของชีวิต หรือนิพพาน
ไม่น่าเชื่อว่ามีคนตีความแนวนี้ได้เหมือนกัน หมายถึงการข้ามฝั่งการใช้ชีวิตของคนเราดำเนินไปด้วยหลายลักษณะอาการ และเราทุกคนต้องเคยรู้สึกแบบนี้มาแล้ว มีคนใน Pantip ตีความว่าสัตว์ต่าง ๆ เข้ากับ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ก็น่าสนใจอยู่
การที่ PI ไม่อยู่บนเกาะ ก็เหมือนพระพุทธองค์เห็นถึงสัจธรรม เรื่องโลกธรรม 8 และกฎของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การยึดมั่นถือมั่น (ติดค้างอยู่บนเกาะ) ไม่นำพาให้พ้นทุกข์ได้ PI จึงเดินทางต่อไปจนถึงฝั่ง (คำว่าถึงฝั่งในทางธรรมเปรียบเหมือนก้าวพ้นทะเลแห่งทุกข์)
ใครถือศาสนาอะไรก็ตีความได้หมด เพราะทุกศาสนาจะมีฝั่งโน้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้ไปอยู่กับพระเจ้า หรือแดนสุขาวดี หรือการหลุดพ้น
ความเห็นส่วนตัวของผม
ผมเชื่อว่า PI เดินทางคนเดียว ไม่มีสัตว์ ไม่มีเกาะลึกลับ (ได้ไอเดียนี้มาจากความเห็นหนึ่งใน Pantip) เรื่องต่าง ๆ นั้น PI ต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างออกมา เพื่อให้คนตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตที่ต้องมีศรัทธาและความหวัง คู่กับความรู้เรื่องเหตุผล เพราะ PI ใช้ทั้งสองอย่างในการเอาตัวรอด PI รู้ว่า เรื่องเล่าธรรมดานั้นมันจืดชืดเกินไปและไม่เป็นตำนานเหมือนกับเรื่องเล่าที่มีจักรวาลในปากพระกฤษณะหรือพระเยซูที่ถูกทรมานเพื่อไถ่บาปแทนมนุษย์ เขารู้ว่าคนทั่วไปชอบเรื่องแบบนี้ เขาจึงสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อสอนใจคน ให้เรื่องนี้กลายเป็นตำนานที่คนจะต้องจดจำไปอีกนานแสนนาน (อันนี้จำมาจากเว็บนอก)
ต้องชมคนเขียนหนังสือและเขียนบทและผู้กำกับหนังเรื่องนี้ เพราะคนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เอาไปคุยกันนานสองนานไม่มีทีท่าว่าจะจบตามหนังไปด้วย มีการแตกประเด็นต่อ ๆ กันไปอีกมาก อย่างเช่นที่ผมพิมพ์บันทึกนี้อยู่นั้นเอง ปกติไม่เคยดูหนังแล้วคิดมากขนาดนี้ ความไม่สิ้นสุดนี้ ก็เหมือนกับค่าทศนิยมของ PI ที่เด็กนักเรียนในห้องจะขานตัวเลขต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากระดานดำจะไม่มีที่ให้เขียนต่อ...
ว่าแล้วขอลงรูปยอดฮิตของหนังเรื่องนี้อีกเล็กน้อย
แถมท้าย
ตอนท้ายเรื่อง ก่อนที่เสือจะมุ่งหน้าเข้าป่า ปรากฎใบหน้าของ PI ทางขวา เป็นมุมมองที่เสือมองเห็น PI เสือกำลังคิดถึง PI หรือ? คนที่เชื่อฉากนี้ ย่อมเชื่อว่าเรื่องที่ PI เดินทางบนเรือกับเสือที่ชื่อว่า "ริชาร์ด ปาร์กเกอร์" เป็นเรื่องจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น